ความหมายและความสำคัญของการโค้ช

International Coaching Federation (ICF) (What is ICF, n.d.) ได้ให้นิยามการโค้ชว่า “Partnering with clients in a thought-provoking and creative process that inspires them to maximize their personal and professional potential.” ซึ่งจับประเด็นสำคัญได้ว่าเป็น “การกระตุ้นให้เกิดความคิด” “การสร้างแรงบันดาลใจ” และ “การใช้ศักยภาพด้านส่วนตัวและหน้าที่การงานให้ได้มากที่สุด”

ซึ่ง NeuroLeadership Group (NLG) (NeuroLeadership Group, n.d.) ได้นิยามการโค้ชว่า คือ “การสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกด้วยการปรับปรุงความคิด/กระบวนการคิด” (Facilitating positive change by improving thinking) อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชในองค์กร Ladyshewsky (2010) ได้กล่าวถึงบทบาทการโค้ชของหัวหน้างานว่า “เป็นการสร้างความสัมพันธ์ บนพื้นฐานของความเชื่อใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของปัจเจกบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม”

โดยอาจกล่าวได้ว่า การโค้ช คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมา เปิดเผย ปลอดภัย ระหว่างโค้ชและผู้รับการโค้ช เพื่อให้เกิดการสื่อสารในรูปแบบของการถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้รับการโค้ชได้ตระหนักรู้ในตนเองและได้รับการสนับสนุนจากโค้ชให้เกิดการปฏิบัติ ส่งผลทำให้ผู้รับการโค้ชได้ผลลัพธ์ที่ปรารถนาในที่สุดโดยอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและจรรยาบรรณของการโค้ช โดยประโยชน์ของการโค้ชสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  1. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับพนักงาน

Ladyshewsky (2010) ได้กล่าวถึงผลของการโค้ช (โดยหัวหน้างาน) ที่เกิดกับผู้รับการโค้ช (พนักงาน) ไว้ว่า “สามารถช่วยให้ผู้เรียน (พนักงาน) ได้รับประโยชน์ในการพัฒนาทักษะและความรู้” และสำหรับตัวหัวหน้างานเองก็ได้ “สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับพนักงาน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวพนักงานและตัวพวกเขาเองในกระบวนการโค้ช” อีกทั้งการใช้การโค้ชในการแสดงภาวะผู้นำสำหรับบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาความรู้และศักยภาพในการเติบโตพร้อม ๆ ไปกับการปรับปรุงด้านการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการตระหนักในภาวะผู้นำที่แตกต่างกันและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองและผลกระทบที่จะมีต่อผู้อื่น ซึ่งอาจสรุปได้ว่า การโค้ชช่วยให้หัวหน้างานได้รู้จักพนักงานเพิ่มขึ้น เสริมสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดีระหว่างหัวหน้างานและพนักงาน ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนรู้และทักษะ การตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองและผู้อื่น และเป็นสิ่งที่พนักงานต้องการได้รับจากองค์การ

  1. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารและองค์การ

การโค้ชได้รับการรยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการองค์การ โดยWillis & Britnor Guest (2003) พูดถึงความสำคัญของการโค้ชว่า “การโค้ชเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทุก ๆ ระดับ และจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการสร้างความสอดคล้องและสมดุลระหว่างการพัฒนาตนเองของพนักงานและเป้าหมายขององค์การ ซึ่งเมื่อนำไปสอบถามกับผู้บริหาร ก็ได้รับคำตอบในแนวทางเดียวกัน ผลการสำรวจโดย Career Partners International (2008) พบว่า จำนวน 40% จากจำนวน 400 คน ที่เป็นผู้บริหารชาวอเมริกันและแคนาดาให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาเลือกการโค้ชเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาวะผู้นำ นอกเหนือจากนั้น ผู้บริหารยังถูกคาดหวังด้วยว่าจะต้องสวมบทบาทโค้ชให้กับพนักงานของตน สอดคล้องกับ McLean et al. (2005) ที่ได้พูดถึงความสำคัญของการโค้ชพนักงานโดยหัวหน้างานว่า ควรต้องเป็นสมรรถนะหลักด้านการบริหารจัดการ (Core managerial skill) ที่ประกอบด้วย การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเปิดเผย, การมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม, การให้คุณค่าของคนเหนืองาน, และการยอมรับเรื่องความไม่ชัดเจนด้านสภาพแวดล้อมของการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพนักงานและปรับปรุงผลการทำงาน

blue_coaching_button_on_apple_keyboar_450